แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, นำรถโบบายห้องปฏิบัติการประจำที่ภูเก็ต ( ข่าวภูเก็ต )

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฏร์ธานี ได้จัดส่งรถโมบายห้องปฎิบัติการมาประจำที่ภูเก็ตเตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ สธ.ภูเก็ตเฝ้าระวังใกล้ชิดหลังมีการเพิ่มระดับการเฝ้าระวังขอยาเพิ่มเป็น 30,000 ชุด

วันที่ 1 พ.ค.52 ที่ห้องประชุมสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก โดยมี นพ.พงษ์สวัสดิ์ รัตนแสง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ตัวแทนโรงพยาบาลรัฐ เอกชน อสม.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายวรพจน์ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้เชื้อโรคดังกล่าวจะยังไม่แพร่ระบาดมาถึงประเทศไทย แต่ด้วยความรุนแรงของโรคซึ่งแพร่กระจายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบเราเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การเตรียมพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าเทียบ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่เองด้วย

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวรายงานสถานการณ์ของโรคว่า ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ดังกล่าว แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการมอบนโยบายให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการในส่วนของการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยปรับใช้มาตรการตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก

ได้แก่ เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรค เตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฎิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ ตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการเป็นไข้ โดยทางสำนักงานสาธาณสุขเป็นแกนหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการกฎอนามัยระหว่างประเทศ International Health Regulations(IHR)จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข

ในขณะที่ นพ.พงษ์สวัสดิ์ รัตนแสง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ทางอนามัยโลกได้ประกาศเพิ่มการเตือนภัย เป็นระดับ 5 และหากยังไม่สามารถควบคุมได้ก็คงต้องเพิ่มเป็นระดับ 6 ในเร็ว ๆนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ผ่านทางสื่อต่างๆ และ อสม.

ในขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมด้านการคัดกรองและการดูแลผู้ป่วยกรณีที่มีข้อสงสัย เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวหากรู้และรักษาได้เร็วก็จะป้องกันการตายได้ รวมทั้งจะต้องเตรียมห้องแยกตรวจโรค ตลอดจนเวชภัณฑ์ในการรักษาซึ่งได้ขอเพิ่มไปยังส่วนกลางอีก 30,000 ชุด จากที่มีอยู่ 1,000 ชุด อุปกรณ์ในการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย การเพิ่มอ่างล้างมือบริเวณสนามบิน โรงพยาบาล การแจกเจลล้างมือ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ก้เริ่มประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแล้ว

ส่วนของห้องปฏิบัติการขณะนี้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จ.สุราษฏร์ธานี ได้จัดส่งรถโมบายห้องปฎิบัติการมาประจำที่ภูเก็ต และในพื้นที่ก็มีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่เช่นกัน ฉะนั้นเมื่อมีผู้ป่วยต้องสงสัยก็สามารถตรวจเลือดได้ทันที และสามารถทราบผลภายใน 4 ชั่วโมง หากต้องการเพิ่มความมั่นใจก็ตรวจซ้ำภายใน 48 ชั่วโมง และเรายังมีการคัดกรองเบื้องต้นโดยมีการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายหรือเทอร์โมสแกนที่บริเวณท่าอากาศยานเพื่อคัดกรองเบื้องต้น

โดยมีพยาบาลประจำการ 3 คน และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอีก 1 คน ดังนั้นผู้โดยสารที่เข้ามากับสายบินทุกคนก็จะต้องผ่านเครื่องคัดกรองดังกล่าว ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารและประชาชนชาวภูเก็ตด้วย

นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังบริเวณท่าเทียบเรือว่า จะมี 2 ท่าเรือหลักที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา คือ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งจะมีเรือนำเที่ยวจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีผู้โดยสารประมาณ 3,000 คน ซึ่งได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ท่าเทียบในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจก่อนที่จะให้ผู้โดยสารลงมาเที่ยวบนฝั่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยก็จะแนะนำไม่ให้ลงจากเรือ เพราะเรือลำดังกล่าวจะใช้เวลาอยู่ในภูเก็ตเพียง 12 ชั่วโมง กับท่าเทียบเรือน้ำลึกอ่าวฉลอง ก็ได้ประสานเจ้าหน้าศุลกากรเพื่อให้คำแนะนำกับเจ้าของเรือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือยอช์ท หากพบว่ามีอาการป่วยก็ควรที่จะพักอยู่ในเรือก่อน

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215