แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, ศาลฎีกาตัดสิน ไล่เศรษฐี ภูเก็ต พ้นที่ ส.ป.ก. - รอเชือดอีกราย 21 มิ.ย.นี้ ( ข่าวภูเก็ต )

ศาลฎีกาตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไล่ “ทศพร เทพบุตร” เศรษฐี ภูเก็ต สามี “อัญชลี วานิช เทพบุตร” นายก อบจ. ภูเก็ต และกรรมการบริหารพรรค ปชป.พ้นที่ ส.ป.ก.เนื้อที่กว่า 98 ไร่ในพื้นที่กะรน ระบุไม่ใช่เกษตรกร ชี้ เป็นผู้บริหารนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัท 6 แห่ง มีการลงทุนเป็นเงิน 55,320,000 บาท เผยวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ศาลเตรียมตัดสินอีก 1 ราย เศรษฐี ภูเก็ต ขาดคุณสมบัติ

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ศาลจังหวัด ภูเก็ต โดย นายมนตรี สาโรช พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ลักษณะสมบูรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัด ภูเก็ต ออกนั่งบังลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ 1765/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 1485/2544 ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ฟ้องขับไล่กับ นายทศพร เทพบุตร จำเลย โดยคดีนี้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย คือ นายทศพร ว่า จำเลยยื่นคำขอเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 2532 เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา โดยอ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ และปลูกยางพารา ต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปดังกล่าว

แต่หลังจากนั้น มีการร้องเรียนว่าผู้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปบางรายขาดคุณสมบัติ ทางโจทก์จึงได้ทำการสอบสวน พบว่า จำเลยขาดคุณสมบัติที่จะได้สิทธิการทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง กับมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ แต่จำเลยมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีมติเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.4-01 เลขที่ 140 อ.เมือง ภูเก็ต แต่ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแต่คณะกรรมการไม่รับ เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นเกษตรกร กลับให้จำเลยออกจากที่ดินที่ถูกเพิกถอน แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย จึงได้มีการฟ้องขับไล่เกิดขึ้น

โดยในขณะนั้นศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ซึ่งทาง ส.ป.ก.ซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโดยให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เลขที่ 140 อ.เมือง ภูเก็ต ต่อมาจำเลยฎีกา

โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่ นายทศพร อ้างว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายจรัญ ตุ้งกู ซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2499 และได้โอนให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ส.ป.ก.ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า การจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 ว่า ให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับมาตรา 1 บุคคลที่จะมีกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและมาตรา 4 บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและคุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย

แต่กรณีของ นายจรัญ ได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากบิดาของนายจรัญ ซึ่งครอบครองในปี 2499 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประการใช้แล้ว และไม่ปรากฏว่า ได้ครอบครองที่ดินโดยชอบตามบทกฎหมายใด การครอบครองของนายจรัญ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจรัญ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ยังบัญญัติว่า ที่ดินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ

ดังนั้น ที่ดินที่ นายจรัญ ครอบครองจึงต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐอยู่ นายทศพร รับโอนมาจากนายจรัญ จึงไม่มีสิทธิดีกว่า โจทก์ หรือ ส.ป.ก.จึงมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ส่วน นายทศพร เป็นเกษตรกรตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 หรือไม่นั้น มาตรา 4 ให้คำนิยามไว้ว่า เกษตรกรหมายความว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายทศพร มีที่ดินอยู่ที่ใน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง 3 แปลง อยู่ใน ต.กะรน อ.เมือง ภูเก็ต อีก 22 แปลง กับมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด นายทศพรจึงไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นายทศพร จึงไม่ใช่เกษตรกรตามความหมายของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 โดย ส.ป.ก.หรือโจทก์มีสิทธินำที่ดินพิพาทมาปฏิรูปที่ดินได้ โดยศาลฎกีกาพิพากษายืนตามศาลอุธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

สำหรับปัญหา ส.ป.ก.4-01 ภูเก็ต เกิดขึ้นสืบเนื่องเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2537 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นได้เดินทางมามอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ที่ จ. ภูเก็ต 592 แปลง 489 ราย พื้นที่ 10,000 กว่าไร่ ทั้งพื้นที่ป่าเขาสามเหลี่ยม อ.เมือง ภูเก็ต ป่าเทือกเขากมลา อ.กะทู้และป่าเทือกเขานาค อ.เมือง ภูเก็ต ซึ่งมีเกษตรกรไปรับจำนวนมาก

ในจำนวนนั้นมีคนตระกูลดังใน ภูเก็ต 11 ตระกูลที่ได้รับเอกสารสิทธิดังกล่าวด้วย จนกระทั่งมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องของคุณสมบัติเกิดขึ้น จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ. ภูเก็ต ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับสิทธิส.ป.ก.4-01 รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลังลงมาตรวจสอบกันอย่างใหญ่โต

จนวันที่ 17 เม.ย.2538 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน จ. ภูเก็ต ได้มีมติเพิกถอนที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่แจกให้ตระกูลเศรษฐี 8 ราย เพราะขาดคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่ง 1 ใน 8 รายคือ นายทศพร สามีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายก อบจ. ภูเก็ต และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. ภูเก็ต 1 แปลง เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตรว.โดย ส.ป.ก.ตรวจสอบพบว่านายทศพร มีที่ดินเป็นของตนเอง 97 ไร่ 3 งาน 30 ตรว. และนายทศพร ประกอบอาชีพอื่นๆ โดยเป็นผู้บริหารนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัท 6 แห่ง มีการลงทุนเป็นเงิน 55,320,000 บาท

คณะกรรมการ ส.ป.ก.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีมติให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของนายทศพร โดยมอบหมายให้เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามคำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ 257/2538 ลงวันที่ 18 เม.ย.2538 โดยนายทศพร ได้อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนดังกล่าว อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามอุทธรณ์ของนายทศพร ลงวันที่ 24 พ.ค.2538

แต่นายทศพร ไม่ได้ไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานตามที่กำหนด คณะกรรมการ ส.ป.ก.จึงมีมติไม่รับการพิจารณาอุทธรณ์ เนื่องจากนายทศพร ไม่ได้เป็นเกษตรกร จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ส.ป.ก.ครั้งที่ 4/2539 ลงวันที่ 4 พ.ย.2539 ส.ป.ก. ภูเก็ต จึงแจ้งให้นายทศพร และบริวารออกจากที่ดินของ ส.ป.ก.ตามหนังสือลงวันที่ 14 มี.ค.2540 แต่นายทศพร และบริวารเพิกเฉย

หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆแล้ว ส.ป.ก.ได้ฟ้องร้องผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.อีก 24 ราย ซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้วบางส่วนหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

สำหรับกรณีที่ ส.ป.ก.ยื่นฟ้องนายทศพร เพื่อให้ออกจากการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 นั้นศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จากนั้น ส.ป.ก.ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลเพื่อให้มีการพิจารณายื่นฟ้องใหม่ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 จากนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้นายทศพร และบริวารออกจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 โดยนายทศพร ได้ยื่นฎีกาต่อจนกระทั่งวันที่ 7 มิ.ย.2550 ศาลจังหวัด ภูเก็ต ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขับไล่นายทศพร และบริวารออกจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก.เลขที่ 140 อ.เมือง ภูเก็ต เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตรว.

นายสุทธวัช นาคสวาทดิ์ เจ้าหน้าที่นิติกร 5 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด ภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากศาลฏีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์คดีระหว่าง ส.ป.ก.กับนายทศพร แล้วโดยให้จำเลยออกจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เลขที่ 140 อ.เมือง ภูเก็ต เนื้อที่กว่า 98 ไร่ ทาง ส.ป.ก.จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่ดินแปลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่ขาดคุณสมบัตินั้นยังมีอีกหลายคดีที่รอการตัดสิน ซึ่งวันที่ 21 มิ.ย.นี้ศาลจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีที่ ส.ป.ก.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่นายเจริญ ถาวรว่องวงค์ เป็นรายต่อไป

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215