แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, ฝ่ายหนุน-ฝ่ายค้านมารีนา ?เดอะยามู? เร่ง ภูเก็ต ตัดสินสร้างหรือไม่ ก่อนชุมชนแตก ( ข่าวภูเก็ต )

ฝ่ายค้าน-ฝ่ายหนุน โครงการท่าเทียบเรือมารีนาแหลมยามู ปะทะคารมกันเดือด ต่างยกเหตุผลหักล้างควรมีท่าเทียบเรือหรือไม่ ขณะที่ตัวแทนฝ่ายค้านระบุให้นึกถึงอนาคตข้างหน้า หากแหลมยามูถูกยึดไปแล้วจะหากินอย่างไร นักวิชาการยืนยัน บริเวณก่อสร้างมีปะการังและหญ้าทะเลสมบูรณ์ ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านบ้านยามูเร่งจังหวัดตัดสินใจ เหตุคนในพื้นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายทำให้เกิดความแตกแยก

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่บริเวณอาการอเนกประสงค์หมู่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ. ภูเก็ต คณะทำงานรับฟังความคิดเห็นการสร้างท่าเทียบเรือมารีนา โครงการเดอะยามู ในส่วนของจังหวัด ภูเก็ต ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการท่าเทียบเรือแหลมยามู ของบริษัท เดอะยามู จำกัด เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการอนุมัติโครงการหรือไม่

ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ นายโอฬาร เฮงเจริญ หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขา ภูเก็ต นายปัญญา สำเภารัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก น.ส.นลินี ทองแถม นักวิชาการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ประมงจังหวัด ภูเก็ต ปลัดอำเภอถลาง โดยมีประชาชนเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายโอฬาร เฮงเจริญ หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขา ภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาโครงการเดอะยามู ว่า ขณะนี้ทางราชการยังไม่มีการอนุมัติให้ก่อสร้าง โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 12 มิ.ย.เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่า จะอนุมัติให้บริษัทเอกชนดำเนินการต่อไปหรือไม่

จากนั้นที่ประชุมได้ให้ตัวแทนบริษัท เดอะยามู ได้ชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการ ว่า เป็นการจัดสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็ก จอดเรือได้ 30 ลำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บลูกค้าของโครงการที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งภายในโครงการประกอบด้วยโรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 60 ห้อง วิลลา 32 หลัง และมั่นใจว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมไม่มาก เนื่องจากจะต้องทำการป้องกันตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากทางจังหวัดแล้ว โดยให้ผู้นำองค์กรท้องถิ่นเข้าตรวจสอบเป็นระยะๆ

ตัวแทนของบริษัท เดอะยามู กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้จะเป็นการสร้างความเจริญให้กับชาวบ้านบริเวณบ้านยามู รวมทั้งจะทำให้คนมีงานทำ ซึ่งจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวยามูและที่มาเคยทำโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายแห่งในรอบ 20 ปี ในจังหวัด ภูเก็ต อาทิ โรงแรมอมันบุรี ซึ่งเป็นโรงแรมหรูระดับโลก หรือโครงการตรีศาลา

“ยืนยันว่า จะเป็นโครงการที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์อย่างมาก” ตัวแทนบริษัท เดอะยามู กล่าว

ขณะที่ น.ส.นลินี ทองแถม นักวิชาการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ได้ชี้แจงสภาพพื้นที่ให้ชาวบ้านทราบว่า บริเวณที่จะก่อสร้างโครงการ ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของอ่าวป่าคลอก จากการสำรวจพบว่า เป็นแหล่งหญ้าทะเล และแหล่งปะการัง ซึ่งยาวต่อเนื่องกันมาและถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัด ภูเก็ต

สำหรับการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล น.ส.นลินี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางราชการได้สนับสนุนให้ชาวบ้านตำบลป่าคลอกได้ช่วยกันอนุรักษ์ จนได้รับยกย่องเป็นชุมชนอนุรักษ์ของฝั่งทะเลอันดามัน

“หญ้าทะเล มีความสำคัญในระบบนิเวศ โดยเฉพะาะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงของตัวอ่อนสัตว์น้ำ” น.ส.นลินี กล่าว และว่า

ส่วนกรณีที่ว่าหากมีการก่อสร้างแล้ว ต้องปฏิบัติตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ ไออีอี นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแล เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจวัด อาทิ การวัดความขุ่นของน้ำหากเกิน 10% ต้องให้ระงับการก่อสร้าง ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ เชื่อว่า เกินกำลังที่องค์กรปกส่วนท้องถิ่นจะดูแลได้ และที่ผ่านมา มักไม่มีคนมาดูแล จึงทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจว่าหากโครงการนี้อนุมัติก่อสร้างแล้ว จะมีผลเปลี่ยนสภาพไปอย่างไรบ้าง

ด้าน นายไพฑูรย์ แพชัยภูมิ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ก่อนที่มีการอนุมัติให้ก่อสร้าง ควรจะมาทบทวนก่อนว่า ทำไมจึงต้องมาสร้างมารีนาแห่งนี้ ถ้าไม่สร้างจะมีผลกระทบทำให้แขกลดน้อยลง หรือมีผู้มาใช้บริการน้อยลงเพียงใด รวมทั้งบริเวณที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ภาครัฐได้รับผลตอบแทนจากการใช้ที่สาธารณะนี้อย่างไร และสามารถย้ายจุดที่ก่อสร้างไปยังจุดอื่น ที่มีผลกระทบน้อยลงได้หรือไม่

นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกกรณีหนึ่ง คือ จะมีก่อสร้างเฟส 2 ต่อจากนี้ ซึ่งจะมีการใช้พื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ทางราชการได้มีการหารือป้องกันหรือไม่ นอกจากนั้น สภาพพื้นที่บริเวณที่ก่อสร้าง มีคลื่นลมแรงในช่วงมรสุม ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องสร้างเขื่อนกันคลื่นกลางอ่าวเพิ่มเติมอีก ดังนั้น ในส่วนของราชการจะต้องพิจารณากรณีนี้อย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม นายบังโสด เด่นศิริ กล่าวว่า สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือแหลมยามู เพราะจะเป็นการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ และเป็นการสร้างงานให้ชาวชุมชนแหลมยามู และบริเวณที่จะก่อสร้างเป็นแหล่งปะการังเสื่อมโทรม และไม่มีหญ้าทะเล เนื่องจากสภาพที่สมบูรณ์ของบริเวณนี้ถูกทำลายไปนานแล้ว ดังนั้น จึงควรจะสร้างท่าเทียบเรือซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับชาวชุมชนมากกว่า

ด้านนายปัญญา สำเภารัตน์ กล่าวสนับสนุนให้ก่อสร้าง โดยระบุว่า ไม่มีสัตว์น้ำบริเวณนั้นแล้ว โดยเฉพาะไม่มีพะยูน โลมา หรือ เต่าทะเล มาหากินในบริเวณนี้แล้ว อีกทั้งขณะนี้ชาวยามูส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำอาชีพประมงแล้ว ดังนั้น หากโครงการนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นการสร้างงานให้กับชาวชุมชน

ขณะที่นายสมเดช อนุสรณ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.7 กล่าวคัดค้านการก่อสร้าง โดยระบุว่า หากหญ้าทะเล และปะการัง แม้ขณะนี้เราเชื่อว่าเสื่อมโทรม แต่หากปล่อยสักระยะหนึ่ง มั่นจะฟื้นขึ้นมาเอง จากนั้นสัตว์น้ำต่าง ๆก็จะกลับมา แต่หากเราทำลายโดยการสร้างท่าเทียบเรือแล้ว ก็หมดโอกาสที่ทรัพยากรจะฟื้นจขึ้นมาได้

“ส่วนที่บอกว่าโครงการนี้จะสร้างงานให้กับชาวชุมชน ก็ถามว่าชาวชุมชนซึ่งขณะนี้มีคนจำนวน 600 กว่าคน สามารถเข้าไปทำงานที่โรงแรมหรือในโครงการได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องไปทำมาหากินในทะเล เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ แต่หากในวันหนึ่งไม่มีที่ทำมาหากินแล้ว อยากถามว่าเราจะอยู่กันอย่างไร”นายสมเดช กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้ยุติลง โดยนายโอฬาร กล่าวว่า จะไม่มีการสรุปใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะนำผลการหารือครั้งนี้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป โดยจะสรุปส่งภายในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เพื่อนำไปประกอบการพิจาณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ก่อสร้างโครงการมารีนาเดอะยามู

นายอนุสรณ์ สมบูณ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 กล่าวว่า ประเเด็นนี้ได้ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนอย่างมาก เพราะขณะนี้ได้มีการแบ่งเป็นฝ่ายหนุนฝ่ายค้านแล้ว ดังนั้น อยากให้ทางราชการเร่งตัดสินเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุรุนแรง ที่ต่างฝ่ายต้องการเอาชนะกันก็ได้

ขณะที่นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ลงมาติดตามเรื่องนี้ กล่าวว่า ขณะนี้ พบพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ มีโครงการก่อสร้างมารีน่าเกิดขึ้นหลายแห่ง จึงอยากให้ตัวย่างที่ชุมชนคลองสนได้เป็นบทเรียนแก่พื้นที่อื่นๆ เนื่องจากการร้องไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ บางครั้งอาจจะล่าช้า ทำให้นายทุนเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างไปไว้ในพื้นที่ หากชุมชนมีการรวมตัวกันเข้มแข็งเข้าไปเฝ้าระวัง จับตาไม่ให้มีการก่อสร้างก็จะเป็นการช่วยได้อีกทางหนึ่ง

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาการก่อสร้างท่าเรือและมารีนาในจังหวัด ภูเก็ต หลายโครงการ โดยอยากให้ระมัดระวังการทำรายงานผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นความผิด โดยประชาชนที่มีข้อร้องเรียนมายังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สามารถติดต่อได้ที่ 02-2192980 ต่อ 1005 หรือสายด่วน 1377

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215